Culture

มีคนตั้งมากมาย ทำไม ทำไมกันถึงตกหลุมรักเจ้าฆาตกร? – การ Romanticize ที่เลยเถิด และเกิดขึ้นบนฐานของความบิดเบี้ยว

Photo credit: Olivia Ethington

ตั้งแต่ช่วงเดือนที่ผ่านมา (กันยายน ค.ศ. 2022) ‘Monster: The Jeffrey Dahmer Story’ ซีรีส์ที่สร้างจากเรื่องราวชีวิตของฆาตกร 17 ศพ ‘เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์’ (Jeffrey Dahmer) ก็ได้ทำการปล่อยลงบน Netflix และปลุกชื่อเสียงของชายคนนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งบนโลกอินเทอร์เน็ต กระแสตอบรับนั้นแตกออกมาเป็นหลายแง่มุม ทั้งที่บอกว่าสัมผัสได้ถึงความน่ากลัวของดาห์เมอร์ผ่านการแสดงของ ‘อีแวน ปีเตอร์ส’ (Evan Peters) และที่ลงความเห็นว่าตัวซีรีส์แสดงให้เห็นถึงมุมของเหยื่อน้อยจนเกินไป หรือไม่เห็นด้วยกับการสร้างมันขึ้นมาเพราะเห็นแก่จิตใจครอบครัวเหยื่อ แต่ที่ผิดคาดไปยิ่งกว่านั้น ก็คือการที่ผู้ชมบางกลุ่มชื่นชอบและยกย่องอาชญากรราวกับว่าเป็น ‘ไอดอล’ คนหนึ่ง

Photo credit: TIME

ไม่ว่าจะในทวิตเตอร์ ติ๊กต็อก หรือแม้แต่แพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ เราจะเห็นว่ามีบางแอ็กเคานต์ที่โพสต์หรือสร้างคอนเทนต์เชิงบวกเกี่ยวกับฆาตกรขึ้นมา อย่างเช่น โพสต์ที่เขียนบอกว่าฆาตกรคนนั้นๆ ฮอตแค่ไหน คลิปตัดต่อภาพพร้อมใส่เพลงที่ให้ความรู้สึกเซ็กซี่ และแฟนฟิคชั่นบรรยายความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกระหว่างฆาตกรกับเหยื่อ หากแต่มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะศิลปินนักร้องบางคนก็ได้เคยแต่งเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับดาห์เมอร์มาแล้ว แม้แต่ในเพลง ‘Dark Horse’ ของ ‘Katy Perry’ และ ‘Juicy J’ ที่ใครๆ ต่างเคยได้ยิน ก็ยังมีเนื้อแร็ปท่อนหนึ่งว่า “She’ll eat your heart out like Jeffrey Dahmer” รวมถึงเพลงดังอีกมากมายที่เอ่ยชื่อเขา ตั้งแต่ ‘Cannibal’ ของ ‘Ke$ha’, ‘Electric City’ ของ ‘Black Eyes Peas’, ‘Must be the Ganja’ ของ ‘Eminem’ ฯลฯ

https://youtu.be/OqmthnrG-2A

แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือการที่ผู้คน – โดยเฉพาะผู้หญิง – แสดงถึงความรักที่ตนมีต่ออาชญากรอย่างออกหน้าออกตา หนึ่งในกรณีที่เห็นได้ชัดและเป็นที่จดจำคือกลุ่มแฟนคลับของ ‘เท็ด บันดี้’ (Ted Bundy) ชายผู้ข่มขืนและฆ่าหญิงสาวมากกว่า 30 ศพ สิ่งที่พวกเธอทำยามตกหลุมรักฆาตกรคนนี้ก็คือการไว้ผมยาวสีน้ำตาล และใส่ต่างหูห่วงคล้ายกับเหยื่อเมื่อไปฟังการพิจารณาคดีของศาล เพื่อดึงดูดความสนใจจากบันดี้โดยเฉพาะ

(จากซ้ายไปขวา: เวนดี้ แพทริคัส - เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์) Photo credit: The Sun

หรือแม้แต่ ‘เวนดี้ แพทริคัส’ (Wendy Patrickus) ทนายของดาห์เมอร์ก็ได้เผยในสารคดี ‘Conversations with a Killer: The Jeffrey Dahmer Tapes’ ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเธอและเขาได้พัฒนาขึ้นระหว่างการสู้คดี แม้ว่ามันจะไม่ใช่ความเสน่หา เธอก็อธิบายว่าตนมีความเห็นอกเห็นใจแก่ดาห์เมอร์มากขึ้น เมื่อเริ่มได้รู้จักเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของเขา แพทริคัสเอ่ยว่า “ในบางครั้ง ฉันรู้สึกราวกับว่าตัวเองเป็นแม่ของเขา บางครั้งก็เหมือนกับว่าเขาเป็นพี่น้องผู้ชายคนหนึ่ง และบางครั้งก็รู้สึกว่าฉันกำลังเป็นนักบำบัดจิตให้กับเขาด้วย”

สิ่งเหล่านี้คงน่าประหลาดใจมากพอที่จะทำให้ตั้งคำถามกันว่า “ทำไมถึงมีคนชอบฆาตกรโรคจิตเยอะขนาดนี้?” แน่นอนว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาด ‘สื่อ’ ไป ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ รายการวิทยุ พอดแคสต์ โทรทัศน์ ไปจนถึงแพลตฟอร์มภาพยนตร์ออนไลน์ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่คดีฆาตกรรมดังมักจะถูกนำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ True Crime ที่ดูเป็นดาบสองคม ในแง่หนึ่งมันก็เป็นการยกอดีตมาฉายซ้ำเพื่อตอกย้ำความชั่วร้ายของอาชญากร และบางครั้งยังย้ำเตือนกระบวนการยุติธรรมให้มีความเข้มงวดกว่าที่เคย แต่ในขณะเดียวกัน ซีรีส์เหล่านี้ไม่เพียงทำให้ครอบครัวเหยื่อเห็นคนที่พวกเขารักตายซ้ำๆ บนหน้าจอ หากนำเสนอผิดพลาดไปในบางจุด ก็อาจทำให้ฆาตกรได้รับแสงอย่างที่ไม่ควรจะได้

ถึงอย่างนั้น ซีรีส์ True Crime ก็ยังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เพราะมันเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่จะทำให้ผู้คนเข้าถึงระบบความคิดและวิธีการฆ่าของอาชญากร เพื่อจะหาวิธีปกป้องตัวเองหากตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ กัน หรือบางคนก็ดูเพื่อให้รู้สึกโล่งใจที่สุดท้ายแล้วคนชั่วต้องได้รับการลงโทษ ซึ่งขั้นตอนการรับรู้ถึงปูมหลังและสภาพจิตใจของฆาตกรนี่ล่ะ ที่ทำให้อาจเกิดการเห็นอกเห็นใจขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่าฝ่ายกระทำจะโหดร้ายหรือมีจิตใจบิดเบี้ยวมากแค่ไหนก็ตาม

Photo credit: IMDb

นักอาชญาวิทยา ‘สก็อตต์ บอนน์’ (Scott Bonn) เคยอธิบายเอาไว้ว่า ความน่ากลัวของคดีฆาตกรรมคือการไม่รู้หรือหาสาเหตุของการก่อเหตุไม่ได้ แต่ความน่ากลัวจะลดลงเมื่อเราได้ทราบถึงเจตนา และในบางคนก็อาจเกิดความหลงใหลต่ออาชญากรได้ – “หากเราเข้าใจพวกเขา รับรู้ถึงแรงจูงใจ และรู้ว่าทำไมจึงทำแบบนั้น มันก็จะไม่น่ากลัวมากสักเท่าไหร่” เขาเอ่ย “ในเมื่อมันสมเหตุสมผล ความน่ากลัวก็จะลดน้อยลงไปด้วย”

เหตุนี้เองที่ทำให้บางคนสามารถรู้สึกเห็นใจฆาตกรได้เมื่อความกลัวถดถอย คล้ายกับการที่เราไม่กล่าวโทษตัวร้ายในละครซึ่งมีปูมหลังน่าสงสารว่าผิดไปเสียทั้งหมด ยิ่งสำหรับคนที่เคยพบเจอประสบการณ์เดียวกันกับฆาตกร เช่น ถูกครอบครัวทำร้ายร่างกายและจิตใจ ถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษา ฯลฯ หรือมีบางสิ่งบางอย่างที่เชื่อมโยงตัวตนของเราเข้ากับฆาตกร อย่างการมีชื่อเหมือนกัน มีการอดิเรกเดียวกัน ฯลฯ โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นในเพศหญิงที่มีความเห็นอกเห็นใจและให้อภัยง่ายกว่า อ้างอิงจากผลงานวิจัยของ ‘เมต กาไรกอร์โดบิล’ (Maite Garaigordobil) ศาสตราจารย์จาก Univesity of Basque Country

Photo credit: The Sun

แน่นอนว่าการเข้าถึงจิตใจของใครสักคนก็สามารถพัฒนาเป็นความหลงใหลได้ ในบางครั้งอาจไม่ใช่ความรักเชิงโรแมนติก แต่เป็นความคิดเบื้องลึกที่ว่า “ฉันสามารถเปลี่ยนแปลงคนๆ นี้ได้” ซึ่งเป็นการเติมเต็มจินตนาการในรูปแบบหนึ่ง อาจเป็นเพราะในใจลึกๆ แล้ว เราก็คาดหวังว่าผู้ที่กระทำผิดจะกลับตัวและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี จนอาชญากรอย่างบันดี้หรือดาห์เมอร์ที่มีปูมหลังน่าสงสารได้รับความเห็นใจอย่างล้นหลามในรูปแบบของจดหมาย ซึ่งบางครั้ง ในกองกระดาษเหล่านั้นจะมีจดหมายรัก เงิน รูปถ่าย และทะเบียนสมรสปะปนอยู่ด้วย กระทั่งตัวบันดี้เองก็ได้แต่งงานกับ ‘แครอล แอนน์ บูน’ (Carole Anne Boone) หญิงสาวที่ทำงานด้วยในชั้นศาล และมีลูกร่วมกันในปี ค.ศ. 1981 แม้ว่าจะอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีก็ตาม

อีกงานวิจัยหนึ่ง ‘Characteristics and Personality Styles of Women Who Seek Incarcerated Men as Romantic Partners: Survey Results and Directions for Future Research’ เผยว่า จากการสำรวจเหล่าผู้หญิงที่มีความรู้สึกดึงดูดต่อผู้ชายที่กระทำการรุนแรง ส่วนใหญ่จะมีประวัติการถูกทำร้ายร่างกาย มีปัญหาครอบครัว มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับผู้ชาย และต้องควบคุมตนเองเพื่อให้มีลักษณะนิสัยที่ดูปกติทั่วไป คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้พวกเธอมีความบอบช้ำทางจิตใจ ยึดติดกับความรุนแรง และมีความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศที่ผิดเพี้ยน ดังนั้น หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง การที่ผู้หญิงบางคนชื่นชอบฆาตกร ก็อาจเป็นเพราะพวกเธอเสพติดความ toxic แต่ในขณะเดียวกันก็ปกป้องตนเองด้วยการเลือกรักฆาตกรที่ไม่อาจออกมาทำร้ายใครได้ ทั้งที่เป็นบุคคลจริงซึ่งล่วงลับไปแล้ว ติดอยู่ในคุก หรือเป็นตัวละครสมมติ

Photo credit: Horror Obsessive

นอกจากนี้ คนที่ชอบอาชญากรอาจมีโรค ‘ไฮบริทโทฟิเลีย’ (Hybristophilia) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ‘บอนนี่ แอนด์ ไคลด์ ซินโดรม’ (Bonnie and Clyde Syndrome) โดยคนที่มีอาการทางจิตนี้จะหลงรักผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงทางกฎหมาย เช่น ข่มขืน กักขังหน่วงเหนี่ยว ฆาตกรรม การโจรกรรมอาวุธ ฯลฯ บางครั้งไฮบริทโทฟิเลียก็ทำให้ผู้ป่วยสามารถมีอารมณ์ทางเพศได้เฉพาะแค่กับนักโทษ หรือบีบบังคับให้คนรักของตนก่ออาชญากรรม ในกรณีที่ไม่ร้ายแรงมาก (passive hybristophilia) ผู้ป่วยอาจเพียงหลงใหลในฆาตกรและมักคิดว่าตนจะสามารถ ‘ช่วย’ เขาให้เป็นคนที่ดีขึ้นได้ แต่หากอาการค่อนข้างหนัก (aggressive hybristophilia) ผู้ป่วยก็จะช่วยปกปิดการกระทำผิดนั้นๆ หรือถึงขั้นลงมือร่วมกัน ความสัมพันธ์ที่คนใดคนหนึ่งมีโรคนี้ล้วนประกอบไปด้วยการล่อลวงกึ่งบังคับ การทำร้ายร่างกายและจิตใจ เรียกได้ว่า toxic แถมยังอันตรายกับทุกฝ่าย รวมถึงคนนอกที่อาจตกเป็นเหยื่อได้ทุกเมื่อ

Photo credit: Jake Nelson

ทั้งนั้นทั้งนี้ เราไม่อาจพูดได้ว่าการคลั่งไคล้อาชญากรเป็นความผิดของซีรีส์ True Crime หรือการนำเสนอของสื่อไปเสียหมด วิจารณญาณของผู้เสพสื่อเองก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรมี แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การแสดงให้เห็นถึงมุมของฆาตกรมากกว่ามุมมองของเหยื่อและครอบครัวก็เป็นปัญหาเช่นกัน เพราะเมื่อผู้ก่ออาชญากรรมเป็นตัวเอกของเรื่อง ผู้ชมอย่างเราๆ ก็จะได้รับรู้ถึงเรื่องราวชีวิต และทุกสิ่งทุกอย่างที่หล่อหลอมให้คนๆ หนึ่งกลายเป็นปิศาจ จึงจะทำให้เกิดความเห็นใจได้ง่ายขึ้น แม้ว่าการเข้าใจถึงสาเหตุเพื่อนำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนจะสำคัญมากตามหลักอาชญาวิทยา คนทั่วไปอย่างเราๆ ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ก็คงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ นอกจากมองดูฆาตกรที่อยู่ภายใต้แสงสปอตไลท์ โดยพึงตระหนักถึงความอันตรายของ ‘อาชญากรรม’ และ ‘แสง’ ที่สาดส่องมันอยู่เสมอ

อ้างอิง